หัวข้อข่าว
        20 ปี อ.ส.พ. บนเส้นทางสู่สวนพฤกษศาสตร์ชั้นนำของเอเชียอาคเนย์
รายละเอียด
       
องค์การสวนพฤกษศาสตร์ (อ.ส.พ.) ได้รับการจัดตั้งขึ้นในปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เพื่อให้ประเทศไทยมีสวนพฤกษศาสตร์ระดับมาตรฐานสากล ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสวนพฤกษศาสตร์ พ.ศ. 2535 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 109 ตอน 40 ลงวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา ต่อมาในปี พ.ศ.2537 อ.ส.พ. ได้รับพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ พระราชทานพระราชานุญาตจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถให้ใช้ชื่อสวนพฤกษศาสตร์ในภาคเหนือ ที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ขององค์การสวนพฤกษศาสตร์ ว่า “สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์” นับตั้งแต่การก่อตั้ง องค์การสวนพฤกษศาสตร์ได้ปฏิบัติภารกิจสำคัญในการดูแลกิจการด้านทรัพยากรพรรณพืชและให้บริการด้านพฤกษศาสตร์ของประเทศมาอย่างต่อเนื่องด้วยความอุตสาหะ ได้จัดให้มีกิจกรรมให้ความรู้แก่เยาวชนในด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนดำเนินกิจกรรมด้านการอนุรักษ์ในวันสำคัญของประเทศ ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากทุกสถาบัน ต่อมาในปี พ.ศ.2545 อ.ส.พ. ได้รับคัดเลือกจาก สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ให้เป็นหน่วยงานดีเด่นในสาขาอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านอนุรักษ์พรรณพืช และปี พ.ศ. 2547 อ.ส.พ. ได้รับคัดเลือกจากสำนักส่งเสริมพิทักษ์เยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้เป็นองค์กรดีเด่นด้านการทำคุณประโยชน์แก่เยาวชนในสาขาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งรางวัลดังกล่าวถือเป็นความสำเร็จและความภาคภูมิใจในการปลูกสร้างจิตสำนึกให้เยาวชนและคนรุ่นใหม่ได้มีความรักและหวงแหนในทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งแวดล้อม ตลอดระยะเวลา 20 ปี องค์การสวนพฤกษศาสตร์ได้มุ่งมั่นพัฒนาสวนพฤกษศาสตร์ให้เติบโตไปสู่ความแข็งแกร่งในวงการพฤกษศาสตร์ระดับประเทศ อันจะเห็นได้จากการขยายพื้นที่สวนพฤกษศาสตร์ไปยังภูมิภาคต่างๆ เพื่อกระจายแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติและการให้บริการไปยังประชาชนในท้องถิ่นให้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งเพื่อให้ทรัพยากรพรรณพืชของประเทศได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง จึงได้มีการจัดตั้งสวนพฤกษศาสตร์ตามภูมิภาคขึ้น คือ สวนพฤกษศาสตร์บ้านร่มเกล้า พิษณุโลก ในพระราชดำริ สวนพฤกษศาสตร์ระยอง สวนพฤกษศาสตร์เมืองพล ขอนแก่น สวนพฤกษศาสตร์พระแม่ย่า สุโขทัย สวนพฤกษศาสตร์เกาะระ พังงา และโครงการจัดตั้งสวนพฤกษศาสตร์ใหม่ คือ สวนพฤกษศาสตร์ปราจีนบุรี เพื่อทำหน้าที่ในการอนุรักษ์ รวบรวมพรรณไม้ทั้งที่มีอยู่ในประเทศรวมถึงพรรณไม้ต่างประเทศ โดยมีการตรวจสอบชื่อที่ถูกต้อง นำมาจัดปลูกให้สวยงาม ร่มรื่น เป็นหมวดหมู่ อย่างสอดคล้องกับนิเวศวิสัย โดยเฉพาะไม้ประจำถิ่น ไม้หายากของประเทศ กล้วยไม้ พืชสมุนไพร และไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ โดยปัจจุบันได้ทำการรวบรวมไว้ในพื้นที่สวนพฤกษศาสตร์ทั้งในโรงเรือน พื้นที่จัดแสดง และในพื้นที่ป่าธรรมชาติกว่า 3,000 ชนิด โดยเป็นกล้วยไม้ไทยกว่า 500 ชนิด พันธุ์ไม้หายากใกล้สูญพันธุ์อีกกว่า 300 ชนิด ได้ดำเนินการ ศึกษา วิจัย เพาะขยายพันธุ์ พืชหายาก พืชเฉพาะถิ่น และพืชที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ด้วยเทคนิคการเพาะเลี้ยงหลากหลายวิธี ให้มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น อันจะนำไปสู่การอนุรักษ์ และนำกลับคืนสู่ถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติต่อไป หนึ่งในภารกิจขององค์การสวนพฤกษศาสตร์คือการสร้างความเข้มแข็งในด้านการศึกษา วิจัยทางพฤกษศาสตร์และความหลากหลายทางชีวภาพให้เป็นที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศและระดับสากล นักพฤกษศาสตร์ขององค์การสวนพฤกษศาสตร์ได้ค้นพบพันธุ์พืชชนิดใหม่ของโลก (new species) ไม่น้อยกว่า 25 ชนิด รวมทั้งกล้วยไม้สกุลใหม่ของโลกซึ่งได้รับพระราชานุญาตให้ใช้ชื่อสกุลว่า Sirindhornia เนื่องในวโรกาสศุภมงคลเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ครบรอบ 48 พรรษา เพื่อให้เป็นเกียรติประวัติต่องานด้านพฤกษศาสตร์ของประเทศไทยสืบไป นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอผลงานในที่ประชุมวิชาการระดับนานาชาติ และตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานจากการศึกษาวิจัย ในวารสารที่เป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติมากกว่า 60 เรื่อง มีการดำเนินงานด้านการรวบรวมตัวอย่างพันธุ์ไม้แห้งเพื่อการอ้างอิง (Herbarium specimens) เพื่อสนับสนุนการศึกษาทางด้านพฤกษศาสตร์ โดยเฉพาะด้านอนุกรมวิธานพืชและสาขาที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบันหอพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ (QBG) มีตัวอย่างพันธุ์ไม้แห้งสะสมกว่า 50,000 ตัวอย่างมีจำนวนชนิดพันธุ์พืชครอบคลุมกว่าร้อยละ 60 ของพันธุ์พืชทั้งหมดที่พบในประเทศไทย มีการร่วมออกสำรวจพันธุ์ไม้ ร่วมวิเคราะห์พันธุ์ไม้ และจัดทำโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการร่วมกับสวนพฤกษศาสตร์เครือข่ายพันธมิตรจากต่างประเทศ นอกเหนือจากภารกิจหลักแล้ว อ.ส.พ. ยังเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่รับสนองพระราชดำริในการดำเนินงานด้านการ อนุรักษ์ ศึกษา วิจัย ฟื้นฟู และหาวิธีใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติให้น้อยที่สุดและได้ผลสูงสุด อาทิ โครงการศึกษาความหลากหลายและนิเวศวิทยาของหิ่งห้อยในประเทศไทยในพระราชดำริ ซึ่งเป็นโครงการสนองพระราชเสาวนีย์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โครงการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นต้น องค์การสวนพฤกษศาสตร์ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินงานภายใต้หลักจริยธรรมและการจัดการที่ดีในการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยได้ดำเนินกิจกรรมส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ด้านพืชและการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้แก่ กลุ่มผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ อีกทั้งสำนักวิจัยและพัฒนายังได้รับมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001) ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ในการควบคุมและลดผลกระทบของมลพิษที่เกิดจากการดำเนินงาน ที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมภายนอก ณ วันนี้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ ยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ในการปฏิบัติภารกิจสำคัญด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรพรรณพืชของประเทศให้คงอยู่อย่างยั่งยืน เสริมสร้างศักยภาพ บทบาทงานวิชาการด้านพฤกษศาสตร์ของประเทศให้บรรลุถึงวิสัยทัศน์ในการเป็นสวนพฤกษศาสตร์ชั้นนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำหน้าที่เผยแพร่ความสวยงามและคุณค่าของพรรณพฤกษชาติไทยให้เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวโลกและปกปักรักษาไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ ให้ดำรงอยู่สืบไป


ปี พ.ศ.2537 อ.ส.พ. ได้รับพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ พระราชทานพระราชานุญาตจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถให้ใช้ชื่อสวนพฤกษศาสตร์ในภาคเหนือ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ว่า “สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์





















































สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ จ.เชียงใหม่





สวนพฤกษศาสตร์บ้านร่มเกล้า พิษณุโลก ในพระราชดำริ





สวนพฤกษศาสตร์ระยอง





สวนพฤกษศาสตร์เมืองพล ขอนแก่น





สวนพฤกษศาสตร์พระแม่ย่า สุโขทัย





สวนพฤกษศาสตร์เกาะระ พังงา





โครงการจัดตั้งสวนพฤกษศาสตร์ใหม่ คือ สวนพฤกษศาสตร์ปราจีนบุรี


พรรณกล้วยไม้ที่อนุรักษ์และจัดแสดง











กล้วยไม้สกุลใหม่ของโลกซึ่งได้รับพระราชานุญาตให้ใช้ชื่อสกุลว่า Sirindhornia ที่นักพฤกษศาสตร์ขององค์การสวนพฤกษศาสตร์ได้ค้นพบพันธุ์พืชชนิดใหม่ของโลก








วารสารที่เป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติ


โครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการร่วมกับสวนพฤกษศาสตร์เครือข่ายพันธมิตรจากต่างประเทศ





มีการดำเนินงานด้านการรวบรวมตัวอย่างพันธุ์ไม้แห้งเพื่อการอ้างอิง (Herbarium specimens) เพื่อสนับสนุนการศึกษาทางด้านพฤกษศาสตร์








โครงการศึกษาความหลากหลายและนิเวศวิทยาของหิ่งห้อยในประเทศไทยในพระราชดำริ ซึ่งเป็นโครงการสนองพระราชเสาวนีย์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ








โครงการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ





การดำเนินงานภายใต้หลักจริยธรรมและการจัดการที่ดีในการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม


กิจกรรมส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ด้านพืชและการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้แก่ กลุ่มผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ