หัวข้อข่าว
        สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ เฉลิมพระเกียรติฯ พืชวงศ์ขิง-ข่า ครั้งที่ 7 “ขิง-ข่า เพื่อชีวิต”
รายละเอียด
       
(17 สิงหาคม 2558) เวลา 09.20 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงแรมดิเอ็มเพรส จังหวัดเชียงใหม่ ทรงเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ เฉลิมพระเกียรติฯ พืชวงศ์ขิง-ข่า ครั้งที่ 7 “ขิง-ข่า เพื่อชีวิต” โดยองค์การ สวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 17 – 23 สิงหาคม 2558 เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ “พระมารดาแห่งการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ” และในโอกาสปีพระราชสมภพครบรอบ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะที่ทรงเป็นบุคคลสำคัญด้านการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชของประเทศ ตลอดจนเป็นเวทีในการนำเสนอผลงานและถ่ายทอด เทคโนโลยีในระดับสากล ซึ่งมีนักวิชาการ นักวิจัย จากทั่วโลกเดินทางมาร่วมประชุม 22 ประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการศึกษา วิจัยพืชวงศ์ขิง-ข่า และวงศ์ใกล้เคียง ซึ่งพืชวงศ์ขิง–ข่า จัดเป็นกลุ่มพืชที่มีความหลากหลายสูงวงศ์หนึ่งของโลก มีการกระจายพันธุ์อยู่มากตามภูมิประเทศในเขตร้อนชื้นแถบเส้นศูนย์สูตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดเป็นแหล่งกระจายพันธุ์ที่อุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชนิดพันธุ์สูง ในประเทศไทย มีพืชวงศ์ขิง-ข่า อยู่กว่า 300 ชนิด จาก 24 สกุล หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของพืชวงศ์ขิง–ข่า จากทั่วโลก โอกาสนี้ทรงบรรยายพิเศษเรื่อง “ขิง-ข่า ในวัฒนธรรมไทย” และรับฟังการบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “Kai Larsen’s Contribution to Understanding the Taxonomy of the Ginger Family in South East Asia” จาก ศาสตราจารย์ ดร.เฮนริค บัลสเลฟ ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยออร์ฮูส ประเทศเดนมาร์ก ประธานคณะกรรมการวิชาการและกองบรรณาธิการโครงการพรรณพฤกษชาติแห่งประเทศไทย จากนั้น ทอดพระเนตรนิทรรศการ ผลงานวิจัยพืชวงศ์ขิง-ข่า ซึ่งเป็นโครงการวิจัยเชิงบูรณาการขององค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากการนำองค์ความรู้เกี่ยวกับพืชสกุลมหาหงส์มาศึกษาค้นคว้า วิจัยจนได้แนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากพืชกลุ่มนี้อย่างครบวงจร ปัจจุบันผลงานวิจัยขององค์การสวนพฤกษศาสตร์ ได้ถูกพัฒนาเป็นต้นแบบสำหรับผลิตภัณฑ์ 2 ประเภท และอยู่ระหว่างการวิจัยด้านเขตกรรม เพื่อหาแนวทางการเพาะขยายพันธุ์ให้ได้สารออกฤทธิ์ในปริมาณสูง และส่งเสริมการปลูกเลี้ยงให้กับชุมชนและเกษตรกรเพื่อผลิตเป็นวัตถุดิบสร้างรายได้เพิ่มต่อไปในอนาคต ซึ่งถือว่าเป็นมิติใหม่ในการ บูรณาการงานวิจัยแบบครบวงจร ก่อให้เกิดการส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าทรัพยากรพืชในท้องถิ่นที่สามารถต่อยอดจากงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริงในวงกว้าง สำหรับพืชสกุลมหาหงส์ในประเทศไทยพบอยู่ประมาณ 23 ชนิด มหาหงส์ ส่วนใหญ่มีกลิ่นหอมหวาน มีศักยภาพในการนำมาพัฒนาเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในวงการสปาหรือสุคนธบำบัด สำหรับสรรพคุณอื่นๆ นั้น มีบันทึกที่ระบุว่า พืชสกุลมหาหงส์ ถูกนำมาใช้เป็นยาสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ขณะเดียวกันในวงการวิชาการได้มีการศึกษา วิจัย เพื่อทำการพิสูจน์ และตีพิมพ์ผลงานไว้ ในวารสารวิชาการระดับสากล เพื่อยืนยันคุณสมบัติของสารออกฤทธิ์ที่พบในพืชสกุลนี้ ตลอดระยะเวลา 3 ปี ที่ผ่านมา นักวิจัยด้านพฤกษเคมีขององค์การสวนพฤกษศาสตร์ ได้ทำการวิจัยพืชสกุลมหาหงส์ 5 ชนิด และสามารถสกัดสารประกอบทางเคมีที่มีศักยภาพทางเภสัชกรรม ได้ประมาณ 70 ชนิด ซึ่งต่อมาทีมนักวิจัยได้เลือกมาทำการศึกษาเชิงลึกเพียง 3 ชนิดคือ ตาเหินหลวง ตาเหินภู และมหาหงส์เหลือง นักวิจัยได้เลือกสารออกฤทธิ์ที่มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ บรรเทาอาการบวมแดง ลดริ้วรอย และรอยด่างดำ มาใช้เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ต้นแบบของ “Massage Cream”, “Day & Night Cream” และ “Facial Serum” ซึ่งองค์การสวนพฤกษศาสตร์ ได้ดำเนินการจดอนุสิทธิบัตรไปแล้ว 2 ผลิตภัณฑ์ คือ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว และผลิตภัณฑ์ครีมบรรเทาอาการบวมของผิวหนัง ปัจจุบัน องค์การสวนพฤกษศาสตร์ อยู่ในระหว่างการดำเนินการศึกษาด้าน เขตกรรม และเพิ่มจำนวนสายพันธุ์ที่มีคุณภาพที่ได้รับการคัดเลือกมาแล้ว โดยใช้เทคโนโลยี การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อรองรับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนในอนาคต ซึ่งงานศึกษาด้านเขตกรรม จะเป็นการต่อยอดการปลูกเลี้ยงต้นพันธุ์จากห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อส่งต่อวัตถุดิบที่ใช้สกัดสารออกฤทธิ์ให้กับห้องปฏิบัติการพฤกษเคมี ทำการตรวจสอบคุณภาพ รวมถึงถ่ายทอดเทคโนโลยี และต้นพันธุ์ที่มีคุณภาพให้กับชุมชนในท้องถิ่นและเกษตรกร อันจะเป็นหลักประกันในการอนุรักษ์ทรัพยากรพืชและภูมิปัญญาการใช้ประโยชน์จากพืชพื้นเมือง เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจให้กับประเทศต่อไป จากนั้น ทอดพระเนตรนิทรรศการ “พระมารดาแห่งการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ” นิทรรศการ “เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” นิทรรศการภาพถ่ายและภาพวาด “มหัศจรรย์พรรณไม้งามเทิดพระเกียรติฯ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ” นอกจากนี้ภายในงานยังมีนิทรรศการวิชาการจาก หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน นำเสนอผลงานทางวิชาการ ผลงานวิจัย จากสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมป่าไม้ กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร พิพิธภัณธ์พืช สิรินธร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สมาพันธ์การแพทย์แผนไทยล้านนา และในวันที่ 20 สิงหาคมนี้ จะมีการนำผู้ร่วมประชุมเข้าชม อุทยานพืชวงศ์ขิง-ข่า ไทย ที่มีความหลากหลายมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ โอกาสนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานเลี้ยง น้ำขิง น้ำข่า ขิงดอง ลูกอมขิง-ข่า แก่ผู้เข้าร่วมประชุมวิชาการนานาชาติ เฉลิมพระเกียรติฯ พืชวงศ์ขิง-ข่า ครั้งที่ 7 “ขิง-ข่า เพื่อชีวิต” ในครั้งนี้อีกด้วย