หัวข้อข่าว
        มหัศจรรย์ดอกเข้าพรรษา เชื่อมวัฒนธรรมสู่วิถีชีวิตชาวพุทธ
รายละเอียด
       
ในครั้งโบราณกาลมาจนถึงปัจจุบันนี้ วันเข้าพรรษาของทุกปี ซึ่งตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 พุทธศาสนิกชนชาวพระพุทธบาท จ.สระบุรี จะมีการทำบุญตักบาตรดอกไม้กันที่วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร ซึ่งเป็นปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์และสำคัญมากแห่งหนึ่งของเมืองไทย ที่มีประวัติ อันยาวนานมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ปัจจุบันเป็นสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนาที่นอกจากประชาชนชาวไทยแล้วยังเป็นที่สนใจของชาวต่างประเทศอีกด้วย การตักบาตรดอกไม้จึงกลายเป็นประเพณีที่มีการจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ตามความเชื่อของชาวพุทธ ที่เลื่อมใสในพุทธศาสนาและถือว่าการตักบาตรดอกไม้เป็นการสร้างอานิสงส์ที่สูงส่งอย่างยิ่ง ประเพณีตักบาตรดอกไม้เป็นประเพณีสำคัญที่อยู่คู่กับวัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหารมาช้านาน ประชาชนชาวพระพุทธบาทและใกล้เคียง จะถือเอาวันเข้าพรรษาของทุกปี โดยดอกไม้ที่ใช้ตักบาตรแด่พระภิกษุสงฆ์นั้นจะต้องเป็น “ดอกเข้าพรรษา” เท่านั้น ซึ่งปัจจุบันดอกเข้าพรรษามีเหลืออยู่ในป่าธรรมชาติน้อยและมีจำนวนลดลงอย่างรวดเร็ว ทำไมถึงต้องเป็น ดอกเข้าพรรษา ก็เพราะว่า ต้นดอกไม้เข้าพรรษาจะขึ้นตามไหล่เขาโพธิ์ลังกา หรือเขาสุวรรณบรรพต เทือกเขาวง และเขาพุใกล้ ๆ กับรอยพระพุทธบาท ซึ่งหาได้ง่ายและจะผลิดอกเฉพาะช่วงเข้าพรรษาเท่านั้น จนชาวบ้านเรียกชื่อให้เป็นที่เหมาะสมว่า “ต้นเข้าพรรษา" ดอกไม้เข้าพรรษาที่ชาวบ้านออกไปเก็บจะมี ดอกสีเหลือง ดอกสีขาว ดูจะหาง่ายไม่ลำบากยากเย็นนัก แต่การเก็บดอกไม้เข้าพรรษาสีม่วง ถือกันว่าถ้าใครสามารถเก็บดอกไม้เข้าพรรษาสีม่วง มาใส่บาตรได้ คนนั้นจะได้รับบุญกุศลมากมายกว่าการนำดอกไม้สีอื่น ๆ มาตักบาตร ดร.จรัญ มากน้อย นักวิชาการองค์การสวนพฤกษศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพืชวงศ์ ขิง-ข่า กล่าวว่า ดอกเข้าพรรษา หรือดอกหงส์เหิน เป็นชื่อเรียกรวมๆของดอกไม้หลายชนิดในวงศ์ ขิง-ข่า โดยมากจะหมายถึงพืชในสกุล Globba ในท้องถิ่นอื่นอาจมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่นกล้วยจะก่า กล้วยเครือคำ กะทือลิง หรือข่าลิง เป็นต้น เป็นไม้พื้นเมืองของไทยที่เกิดในป่าร้อนชื้นภายใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ หรือขึ้นอยู่ตามชายป่าซึ่งในป่าเมืองไทยมีขึ้นกระจายอยู่ทุกภาค มีลำต้นเป็นหัวแบบเหง้า มีรากสะสมอาหารคล้ายรากของกระชาย ส่วนของลำต้นเหนือดินกาบใบที่เรียงตัวกันแน่นสูง ใบเดี่ยว ยาวรี ปลายใบแหลม ดอกมีรูปร่างเรียว กลีบดอกเชื่อมติดกัน รูปร่างของดอกมีลักษณะคล้ายกับหงส์ที่สยายปีกออกมา แลดูเหมือนกำลังจะบินขึ้นสู่ท้องฟ้าด้วยลีลาสง่างาม ด้วยลำต้นที่มีความสูงแค่ 30-70 ซม. ช่อดอกจึงมีขนาดเล็ก ดอกเข้าพรรษาในหนึ่งปีนั้นจะออกดอกเพียงครั้งเดียว ชาวบ้านจึงเก็บมามัดรวมกันเป็นช่อได้หลายๆ ช่อจึงค่อยนำไปใส่บาตรดอกไม้ในวันเข้าพรรษา ดอกเข้าพรรษา เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ขิง-ข่า ที่มีการเจริญเติบโตและออกดอกในช่วงฤดูฝน จากนั้นจะพักตัวในช่วงฤดูหนาวจนถึงฤดูร้อน ซึ่งต้นเหนือดินจะยุบแห้งไปเหลือไว้เพียงหัวที่ฝังตัวอยู่ใต้ดิน และจะงอกใหม่ในช่วงฤดูฝนต่อไป นอกจากดอกเข้าพรรษาที่บานสะพรั่ง ในช่วงฤดูฝนแล้ว ยังมีพืชที่อยู่ในวงศ์เดียวกันที่มีความสวยงามไม่แพ้ดอกเข้าพรรษาเลย อย่างเช่น ดอกกระเจียว หรือบัวสวรรค์ จะเห็นได้ว่าในช่วงฤดูฝน ภายในเขตอุทยานแห่งชาติป่าหินงาม จังหวัดชัยภูมิ ตระการตาไปด้วยดอกกระเจียวเต็มท้องทุ่ง ที่ถือว่าเป็นราชินีแห่งมวลไม้ดอกของขุนเขาป่าหินงาม มีดอกสีชมพูอมม่วง ออกดอกเพียงปีละครั้ง ด้วยรูปทรงและสีสันที่มีความโดดเด่นสวยงาม จึงทำให้ป่าหินงามเป็นทุ่งดอกกระเจียวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และนอกจากในพื้นที่อุทยานแห่งชาติป่าหินงามแล้ว ยังมีทุ่งดอกกระเจียวสีชมพูกับสีขาว ภายในอุทยานแห่งชาติไทรทอง ซึ่งเป็นทุ่งดอกกระเจียวอีกแห่งหนึ่งที่เบ่งบานชูช่อมีความสวยงามโดดเด่นไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นดอกเข้าพรรษา หรือว่าดอกกระเจียว ล้วนแต่เป็นพืชวงศ์ขิง-ข่า ทีมีการกระจายพันธุ์เป็นวงกว้างในป่าธรรมชาติ นอกจากนี้ยังมีพี่น้องของพืชตระกูลขิง-ข่า อีกเป็นจำนวนมากที่เรายังไม่รู้จักและไม่เคยเห็น ดังนั้น องค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้ทำการรวบรวมพืชวงศ์ขิง – ข่า ของไทย กว่า 180 ชนิด รวบรวมและจัดแสดงไว้ใน อุทยานขิง – ข่า ที่มีความหลากหลายมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายในสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีทั้งความหลากหลายของชนิดพันธุ์ และสีสันสวยงามแปลกตาน่าชม โดยได้รวบรวมกลุ่มพืชวงศ์ขิง –ข่า ที่สามารถพบได้ในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไว้เพื่อแสดงถึงศักยภาพทางด้านความหลายทางชีวภาพของพืชวงศ์ขิง – ข่า ให้ชาวโลกรับรู้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรพรรณพืชที่มีอยู่ ในประเทศไทย สนใจสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ โทรศัพท์ 0-5384-1234 และ www.qsbg.org