หัวข้อข่าว
        8 เมษายน 2560 วันแห่งความยินดี ครบรอบ 25 ปี แห่งการสถาปนาองค์การสวนพฤกษศาสตร์
รายละเอียด
       
องค์การสวนพฤกษศาสตร์ ได้รับการจัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกา เมื่อวันที่ 7 เมษายน พุทธศักราช 2535 ซึ่งเป็นปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทั้งนี้ เพื่อให้ประเทศไทยมี สวนพฤกษศาสตร์ระดับสากลที่สมบูรณ์แบบ ทำหน้าที่เป็นสถาบันทางวิชาการด้านพืช ที่มีภารกิจสำคัญในด้านการอนุรักษ์ รวบรวม ศึกษาวิจัย ทรัพยากรพันธุ์พืชและความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ อีกทั้งเป็นสถานศึกษา ปลูกฝังและกล่อมเกลาจิตใจ ให้ความรู้แก่เยาวชน ให้ตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ ได้จัดสร้างสวนพฤกษศาสตร์ จำนวน 5 แห่ง กระจายเกือบทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อให้ทรัพยากรพรรณพืชไทยได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง ได้แก่ สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ จ.เชียงใหม่ สวนพฤกษศาสตร์บ้านร่มเกล้า พิษณุโลก ในพระราชดำริ สวนพฤกษศาสตร์ระยอง สวนพฤกษศาสตร์ขอนแก่น และสวนพฤกษศาสตร์ พระแม่ย่า สุโขทัย นักวิชาการขององค์การสวนพฤกษศาสตร์ ยังมีผลงานการวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ในระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการค้นพบพืชสกุลใหม่และชนิดพันธุ์ใหม่ของโลกอีกกว่า 40 ชนิด ปัจจุบัน หอพรรณไม้ขององค์การสวนพฤกษศาสตร์ มีตัวอย่างพรรณไม้แห้ง เพื่อใช้ในการอ้างอิงทางพฤกษศาสตร์ กว่า 90,000 ตัวอย่าง นับเป็นหอพรรณไม้ที่มีความสำคัญของประเทศ มีความร่วมมือกับสถาบัน British Museum ประเทศอังกฤษ ในการจัดทำพิพิธภัณฑ์แมลง ที่ได้มาตรฐานในระดับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันได้รวบรวมตัวอย่างแมลงไว้กว่า 26,000 ตัวอย่าง นอกจากงานวิชาการพื้นฐานที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว องค์การสวนพฤกษศาสตร์ยังได้ดำเนินงานศึกษาวิจัย เพื่อการอนุรักษ์พรรณไม้ที่กำลังถูกคุกคามและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ วิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชเพื่อเป็นฐานในการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยได้ให้ความสำคัญกับพืชวงศ์ขิง-ข่า ซึ่งประเทศไทยถือเป็นแหล่งกระจายพันธุ์ และมีความหลากหลายทางชนิดพันธุ์แหล่งใหญ่ของโลก พืชวงศ์ขิงข่ามีความสำคัญกับชีวิตมนุษย์ไม่ว่าจะเป็น อาหาร ยารักษาโรค หรือใช้ในวัฒนธรรมประเพณี อย่างไรก็ดียังมีชนิดพันธุ์พืชพื้นเมืองในวงศ์ขิงข่าอีกเป็นจำนวนมากที่มีศักยภาพแต่ยังไม่ถูกนำไปวิจัยใช้ประโยชน์ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ ดำเนินการวิจัยด้านพฤกษเคมีพืชสกุลมหาหงส์ จนได้วิธีการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสารสกัดมหาหงส์อย่างครบวงจร ได้แก่ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว Day & Night Cream และ Facial Serum และผลิตภัณฑ์บรรเทาอาการบวมของผิวหนัง ซึ่งได้จดทะเบียน อนุสิทธิบัตรไปแล้ว 3 ฉบับ และอยู่ระหว่างการวิจัย เพื่อหาแนวทางการเพาะขยายพันธุ์ ให้ได้สารออกฤทธิ์ในปริมาณสูง เพื่อส่งเสริมการปลูกเลี้ยงให้กับเกษตรกรและชุมชนท้องถิ่นในการผลิตเป็นวัตถุดิบส่งโรงงาน เป็นการสร้างรายได้เพิ่มให้กับครัวเรือนต่อไป ซึ่งถือว่าเป็นมิติใหม่ของงานวิจัยที่มีการ บูรณาการอย่างครบวงจร ในด้านการให้บริการข้อมูลแก่ประชาชน องค์การฯ ได้พัฒนาฐานข้อมูลเพื่อให้บริการ แก่นักศึกษาและประชาชน ในการสืบค้นข้อมูลพรรณไม้ โดยให้บริการผ่านเวปไซต์ และในรูปแบบ Mobile Application ชื่อว่า “Botany4thai” เพื่อเพิ่มช่องทางในการให้บริการ และรับข้อมูลข่าวสารต่างๆ ขององค์การสวนพฤกษศาสตร์ ซึ่งสามารถ download ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ในส่วนของการส่งเสริมการท่องเที่ยวตามนโยบายรัฐบาลนั้น องค์การฯ ได้เปิดเส้นทางเดินชมธรรมชาติเหนือเรือนยอดไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย Canopy Walks ระยะทางประมาณ 400 เมตร ที่ระดับความสูงเหนือพื้นดินกว่า 20 เมตร ซึ่งผู้มาเยี่ยมชมจะได้รับความรู้คู่ความเพลิดเพลิน เกี่ยวกับระบบนิเวศป่าดิบแล้ง และสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในระดับเรือนยอดไม้ได้อย่างใกล้ชิด ตลอดระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมา องค์การสวนพฤกษศาสตร์ ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ในการปฏิบัติภารกิจสำคัญด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรพรรณพืชของประเทศให้คงอยู่อย่างยั่งยืนเสริมสร้างศักยภาพ บทบาทงานวิชาการด้านพฤกษศาสตร์ของประเทศให้บรรลุตามเป้าประสงค์ที่ตั้งไว้ ดังวิสัยทัศน์ในการเป็นสวนพฤกษศาสตร์ชั้นนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำหน้าที่เผยแพร่ความสวยงาม/และคุณค่าของพรรณพฤกษชาติไทยให้เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวโลกและปกปักษ์รักษาไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศให้ดำรงอยู่สืบไป





ศ.ดร.สง่า สรรพศรี ผู้ริเริ่มก่อตั้งองค์การสวนพฤกษศาสตร์