เผยแพร่เมื่อ/created date: 1 Aug 2011

พฤกษ์

Albizia lebbek (L.) Benth.
มะรุมป่า จ๊าขาม ตุ๊ด กะซึก ถ่อนนา ก้านฮุ้ง มะขามโคก พญากะบุก ก้ามปู ชุงรุ้ง ชุ้งรุ้ง จามจุรี จามรี ซึก กาแซ กาไพ แกร๊ะ กรีด กระพี้เขาควาย Indian walnut
FABACEAE (LEGUMINOSAE-MIMOSOIDEAE)
ไม้ต้นขนาดใหญ่ สูงถึง ๒๕ เมตร ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงสลับ โคนก้านใบมีต่อม ใบประกอบย่อย ๒ - ๓ คู่ เรียงตรงข้าม ใบย่อย ๓ - ๖ คู่ เรียงตรงข้าม แผ่นใบย่อยรูปไข่กลับหรือคล้ายสามเหลี่ยมข้าวหลามตัด ปลายใบกลมหรือตัด โคนใบเบี้ยว มนหรือตัด ช่อดอกแบบช่อเชิงหลั่น ออกบริเวณซอกใบที่ปลายยอด ช่อดอกย่อยเป็นกระจุกกลมแน่น ดอกย่อยมีขนาดเล็ก เกสรเพศผู้จำนวนมาก ผลเป็นฝัก รูปขอบขนาน แบน ปลายเรียวแคบทั้งสองด้าน เมื่อแก่จะแตกอ้าตามรอยตะเข็บ เมล็ดทรงรี แบน
การกระจายพันธุ์ พบในทวีปแอฟริกา และเอเชียเขตร้อนชื้น ในประเทศไทยพบตามป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ หรือพื้นที่เสื่อมโทรม ทั่วทุกภาค
ยอดอ่อนและช่อดอกอ่อนรับประทานได้ รสมัน เนื้อไม้ แข็ง มีลายสวยงาม นิยมใช้ในงานก่อสร้าง ทำเครื่องมือทางการเกษตร เปลือก ให้น้ำฝาด ใช้ฟอกหนัง รักษาแผลในปาก ลำคอ เหงือก ใบ ดับพิษร้อนทำให้เย็น เมล็ด รักษาโรคผิวหนัง

หนังสือองค์ความรู้เรื่องป่าพืช ที่ใช้ประโยชน์ทางภาคเหนือของไทย

-

33133 views

แสดงความเห็นและอภิปราย/discuss

   

Your E-mail:

Your Name: