กลุ่มอาคารเรือนกระจก (Glasshouse Complex)

กลุ่มอาคารเรือนกระจก (Glasshouse Complex)
 

กลุ่มอาคารเรือนกระจกเฉลิมพระเกียรติ (Glasshouse Complex)

     กลุ่มอาคารเรือนกระจกเฉลิมพระเกียรติ (Glasshouse Complex) ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นสถานที่รวบรวมและจัดแสดงพรรณไม้ที่มีความโดดเด่น พรรณไม้หายากและใกล้สูญพันธุ์  จากหลากหลายระบบนิเวศ จัดแสดงไว้ในโรงเรือนให้คล้ายคลึงกับลักษณะที่พืชขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมได้ตลอดทั้งปี  พร้อมกับชมนาฬิกาดอกไม้เรืองแสงที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย  มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 8 เมตรมีการปลูกไม้ดอกไม้ประดับสีสันสดใสตามฤดูกาลภายในหน้าปัดของนาฬิกา จึงเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่นักท่องเที่ยวเกิดความประทับใจเมื่อเดินทางมาเยือนสถานที่แห่งนี้    
                    - เรือนป่าดิบชื้น (Tropical Rainforests)เป็นโรงเรือนที่ใหญ่ที่สุด ที่จัดแสดงสภาพป่าและพันธุ์ไม้ในป่าดิบชื้น พืชเฉพาะถิ่นและพืชหายากทางภาคใต้ อาทิ เถาใบสีทอง ปาล์มเจ้าเมืองตรัง ปาล์มเจ้าเมืองถลาง ปาล์มบังสูรย์  กะทือพิลาส หมากแดง กล้วยศรีนรา และดาหลาขาว ภายในโรงเรือนมีการสร้างบรรยากาศให้มีความชุ่มชื้นสูงด้วยระบบไอน้ำพ่นฝอยอัตโนมัติ เพื่อให้ภายในโรงเรือนมีความชื้นทั่วถึง
ทุกจุด นอกจากนี้ยังมีการปรับภูมิทัศน์ให้มีความสวยงามด้วยน้ำตกและถ้ำมีทางเดินยกระดับสามารถเดินชมเรือนยอดพรรณไม้ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ชื่นชมความสวยงามของเรือนยอดพืชจากมุมสูงอย่างทั่วถึง สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาสัมผัสกับธรรมชาติในเรือนแห่งนี้ 
                    - เรือนไม้น้ำ (Water Plants) ภายในมีการจัดแสดงไม้น้ำ ทั้งพันธุ์บัวของไทย และจากต่างประเทศ อาทิ บัวหลวง บัวสาย   และบัวกระด้ง บัวมีหนามที่มีลักษณะใบใหญ่ที่สุดในโลก  อีกทั้งการจัดตกแต่งเสริมด้วยพรรณไม้น้ำ  ไม้ชุ่มน้ำชนิดต่าง ๆ  อาทิ กกอียิปต์ กกลังกา กระจูด พลับพลึงดอกขาว
                   - เรือนกล้วยไม้และเฟิน (Orchids and Ferns) ภายในมีการจัดแสดงกล้วยไม้และเฟิน   โดยจัดปลูกกล้วยไม้ไทยและกล้วยไม้ลูกผสมตลอดทั้งปี เช่น ว่านเพชรหึงหรือว่านหางช้าง กล้วยไม้ที่มี  ลำต้นใหญ่ที่สุดในโลก วนิลา กล้วยไม้ที่มีลำต้นยาวที่สุดในโลก ฝักมีกลิ่นหอม ใช้ทำขนมหรือไอศกรีม   และกล้วยไม้ลูกผสมหลากหลายสายพันธุ์ อาทิ กล้วยไม้ลูกผสมสกุลหวาย (Dendrobium sp.) สกุลแวนด้า (Vanda sp.) สกุลอิพิเดนดรัม (Epidendrum sp.) เสริมพื้นล่างด้วยเฟินนานาชนิด อาทิ เฟินกีบแรด  เฟินแม่ลูกอ่อน เฟินก้านดำ เฟินชายผ้าสีดา อีกทั้งและเพิ่มความหลากหลายด้วยการจัดภูมิทัศน์เลียนแบบธรรมชาติ  ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมกับบรรยากาศที่เย็นสบายภายในโรงเรือนนี้
                    - เรือนพืชทนแล้ง (Arid Plants)   เป็นความมหัศจรรย์ของพืชที่มีการปรับตัวให้สามารถ อยู่ในสภาพแห้งแล้งได้ ประกอบด้วยพืชกลุ่มกระบองเพชร พืชอวบน้ำ  ด้วยลักษณะของพืชทนแล้งที่มีรูปร่างแปลกตา ดอกกระบองเพชรหลากหลายสีสัน จึงเหมาะสำหรับผู้ที่รักการถ่ายภาพใช้เวลาอยู่ภายในเรือนนี้เป็นเวลานาน เพื่อเก็บภาพประทับใจ อาทิ ถังทองหรือเก้าอี้แม่ยาย กระบองเพชรจากทวีปอเมริกา  ลำต้นกลม ขนาดใหญ่ ดอกสีเหลือง  เฒ่าหัวหงอก กระบองเพชร ที่มีขนสีขาวยาว มองคล้ายผมของผู้เฒ่า ปีศาจทะเลทราย พืชโบราณ พบในเฉพาะประเทศนามิเบีย ทวีปอัฟริกาเท่านั้น ใบสีเขียวยาว ปลายใบ  แห้งม้วนงอ  นอกจากนี้ยังมีพืชอวบน้ำต่างๆ อาทิ กุหลาบหิน ว่านหางจระเข้ และป่านศรนารายณ์   ชนิดต่างๆ และพืชที่หาดูได้ยากจากเกาะมาดากัสการ์
                    - เรือนพืชกินแมลง (Carnivorous  Plants)  จัดแสดงพืชกินแมลง พืชที่มีการปรับตัว ให้อยู่รอด โดยมีการเปลี่ยนแปลงส่วนของใบ เพื่อดักจับแมลง อาทิ หม้อข้าวหม้อแกงลิง พืชกินแมลง ที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีส่วนที่คล้ายหม้อสำหรับดักจับแมลง หยาดน้ำค้าง  พืชกินแมลง ที่มีเมือกเหนียวคล้ายหยดน้ำสำหรับดักจับแมลง กาบหอยแครง และกระบอกจอกสูง พืชกินแมลงจากทวีปอเมริกา
                   - เรือนพืชสมุนไพร (Medicinal plants) จัดแสดงพืชสมุนไพรไทย กว่า 150 ชนิด มีป้ายสื่อความหมายบอกชื่อของสมุนไพรและบอกสรรพคุณของพืชสมุนไพรชนิดนั้นๆ อาทิ  ฟ้าทะลายโจร หญ้าหนวดแมว  หนุมานนั่งแทน ย่านาง เล็บครุฑ จิงจูฉ่าย เป็นต้น
                   - เรือนสับปะรดสี (Bromeliads) รวบรวมพืชกลุ่มสับปะรดสีหลากหลายสายพันธุ์ สับปะรดสีเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกา เป็นพืชกลุ่มเดียวกับสับปะรด แต่ไม่ค่อยติดผล ลักษณะของใบมีลวดลายและมีสีสันที่สวยงาม จึงนิยมปลูกเป็นพืชประดับสำหรับจัดตกแต่งสวน ขยายพันธุ์ได้ง่ายโดยการแยกหน่อ
                   Rose Garden สวนแห่งรัก สัมผัสกับกลิ่นหอมและเสน่ห์ของกุหลาบ  50 สายพันธุ์ ในช่วงฤดูหนาวที่ได้นำมาจัดปลูกไว้บริเวณเหนือขึ้นไปจากกลุ่มอาคารเรือนกระจก เพลิดเพลินกับสีสัน แห่งกุหลาบหลากหลายสายพันธุ์ อาทิ  กุหลาบควีนสิริกิติ์ พรรณไม้เทิดพระนามของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ดอกสีเหลืองขนาดใหญ่ เมื่อกลีบต้องแสงอาทิตย์ปลายกลีบจะมีสีส้ม  ดอกมีกลิ่นหอม กุหลาบจุฬาลงกรณ์ เป็นดอกกุหลาบไร้หนาม ดอกสีชมพู กลีบซ้อน ดอกมีกลิ่นหอม เจ้าดารารัศมี พระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปลูกในบริเวณพระตำหนักดาราภิรมย์ ที่อำเภอแม่ริม กุหลาบมองเชรี  กุหลาบอเมริกา กลีบดอกมีสองสี กลีบดอกส่วนโคนสีแดงเข้ม  กลีบดอกส่วนปลายสีชมพู  มีกลิ่นหอม กุหลาบ Bishop’s Castle กุหลาบอังกฤษ ดอกสีชมพูหวาน กลิ่นหอมคล้ายน้ำหอม  กุหลาบจัสท์ โจอี้ ดอกสีส้มอ่อนหรือสีโอรส กลีบดอกซ้อนคล้ายดอกคาร์เนชั่น มีกลิ่นหอม กุหลาบอิมเพเทียน ดอกสีส้มสด สีสันสดใส และกุหลาบรูโกซ่าหรือกุหลาบโบราณ เป็นกุหลาบป่าที่มีผลสุกสีแดงส้ม สามารถนำมาทำแยมได้